อัตราการรีไซเคิลพลาสติกทั่วโลกยัง “ทรงตัว” ที่ 9%

ผลการวิจัยล่าสุดเรื่อง “ความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานพลาสติกระดับโลกในการวิเคราะห์การไหลของวัสดุที่เชื่อมโยงกับการค้า” (Complexities of the global plastics supply chain revealed in a trade-linked material flow analysis) ตีพิมพ์ในวารสาร Communications Earth & Environment เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา พบว่าการรีไซเคิลพลาสติกทั่วโลกยังคงอยู่ที่ร้อยละ 9 และพลาสติกใหม่ส่วนใหญ่ยังผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

ผลการวิจัยนี้เกิดขึ้นในขณะที่คณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสนธิสัญญาทั่วโลกเกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติกเตรียมที่จะประชุมกันอีกครั้งในเดือนสิงหาคมปีนี้ หลังจากล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงในการเจรจารอบที่แล้ว

ทีมวิจัยจีน จากมหาวิทยาลัยชิงหวา ได้วิเคราะห์ฐานข้อมูลระหว่างประเทศ สถิติระดับชาติ และรายงานอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์การไหลของวัสดุ (Material Flow Analysis) สำหรับพลาสติกที่เชื่อมโยงกับการค้าระดับโลกในปี 2022 ซึ่งมีปริมาณการค้าพลาสติกทั่วโลก 426.7 ล้านตัน โดยผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปคิดเป็น 111 ล้านตัน

ความต้องการพลาสติกเพิ่มขึ้นสี่เท่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2050 ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ในขณะที่อัตราการรีไซเคิลแทบไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิด “ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่เร่งด่วน”

การจัดการปัญหานี้ต้องวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด และการศึกษาพบว่าการผลิตพลาสติกกระจุกตัวในประเทศที่อุดมด้วยน้ำมัน ขณะที่การแปรรูปอยู่ในประเทศที่มีกำลังการผลิตสูง

การศึกษายังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงวิธีการกำจัดขยะ โดยการฝังกลบลดลงเหลือร้อยละ 40 การเผาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34 การรีไซเคิลทั่วโลกยังคงอยู่ที่ร้อยละ 9 และ การเผาพลาสติก กลายเป็นวิธีการจัดการขยะพลาสติกที่ใช้กันมากที่สุด โดยมีอัตราการเผาที่สูงในญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน

พลาสติกส่วนใหญ่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีความคืบหน้าน้อยมากในการลดการพึ่งพิงวัตถุดิบเชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับการผลิตพลาสติก ซึ่งบั่นทอนความพยายามในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อุปสรรคในการรีไซเคิลพลาสติกรวมถึง การปนเปื้อนของอาหาร และฉลากบนพลาสติก ทำให้พลาสติกบางชนิดรีไซเคิลได้ยากขึ้น ในขณะที่ความซับซ้อนและความหลากหลายของสารเติมแต่งในวัสดุพลาสติกเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่ง ทำให้ต้นทุนการผลิตพลาสติกใหม่ต่ำกว่าการรีไซเคิล อุปสรรคทางเศรษฐกิจนี้ขัดขวางการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีการรีไซเคิล ทำให้วงจรของอัตราการรีไซเคิลต่ำดำเนินต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.nature.com/commsenv/

บริษัท พูนทองไฟเบอร์ จำกัด
POONTONG FIBER CO., LTD.
รับซื้อขวดพลาสติก PET / จำหน่าย พลาสติกรีไซเคิล
36 หมู่ที่ 11 ตำบลบึง อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ 32000
โทร. 082-0366464 / 086-9354949 / 065-3890097